Boonniyom Communication: Right Media Readme Life
- Close

[HOME]
[ฝั่งฝันเพื่อฟ้าดิน]
[สังคมไทยวิกฤกติ เพราะการศึกษาที่ผิดพลาด]
[thik globally but act locally]
[สื่อมอมเมาคือ message ที่เป็นอสาระของฝ่ายเทพ แต่เป็นสาระ ของฝ่ายมาร]
[ยอมจำนนกับการศึกษาในวังวน]
[เปิดทางสวรรค์]
[บุคคล 4 จำพวก]
[ทำงานกับวงการสื่อมาตลอด]
[แบบจำลองการสื่อสาร กับสิ่งที่ข้าพเจ้าคิด]

[สัจธรรมในการสื่อสารบุญนิยม]
[จากทฤษฎีของ Berlo ถึง Kaviya พัฒนาเป็นทฤษฎีการสื่อสารบุญนิยม]
[การประยุกต์ใช้ระบบการสื่อสาร เพื่อการพัฒนามนุษย์]
[การสื่อสารภายในบุคคล กับการสื่อสารระหว่างบุคคล ในองค์กรบุญนิยม]
[หนังสือธรรมะ คือเจ้าใบ้เสียงดัง]
[ไม่ปฏิเสธทฤษฎีการสื่อสารตะวันตก ยุคการสื่อสารบุญนิยม]

[ทฤษฎีการสื่อสารบุญนิยม]
[มรดกทุนทางสังคม]
[กุญแจ 5 ดอก กลไกของการสื่อสาร]
[ภารกิจและหน้าที่ ของการสื่อสารบุญนิยม]

[ประสบการณ์นิเทศศาสตร์ สู่การสื่อสารเชิงบูรณาการ]
[นิเทศศาสตร์สุนทรีย์]
[ตัวตนของข้าพเจ้า]
[องค์ความรู้บุญนิยม]

email: sudin.expert@yahoo.com
phone: 08-9644-1048


 

สัจธรรม ในการสื่อสารบุญนิยม.

จากแบบจำลองการสื่อสารของเบอร์โล สามารถนำมาเทียบเคียงกับการสื่อสารบุญนิยมได้ดังนี้

ผู้ส่งสาร (sender) หมายถึง นักบวช และผู้นำทางจิตวิญญาณ ตลอดจนผู้นำองค์กร ซึ่งทุกคนมีฐานะเป็นผู้ปฏิบัติธรรม เป็นสื่อบุคคลที่ได้รับการคัดสรรแล้ว มิใช่ว่าใครก็จะมีหน้าที่ส่งสาร ถ้าเป็นนักบวช ทำหน้าที่สอนธรรม ถ้าเป็นผู้นำองค์กร ก็จะทำหน้าที่แสดงความเป็นผู้มักน้อย อดทน และเที่ยงธรรม ให้เห็นเป็นตัวอย่าง โดยคติที่ว่า ตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน ส่วนผู้ปฏิบัติธรรม ในฐานะผู้ปฏิบัติผู้แสดงธรรม ก็จะแสดงความเป็นผู้มีศีลเคร่งให้ปรากฎ

สาร (message) คือธรรมะ และองค์ความรู้บุญนิยม (ดูรายละเอียด โครงสร้าง องค์ความบุญนิยมที่ภาคผนวก ก.)

ช่องทางการสื่อสาร (channel) แบ่งออกเป็น 2 มิติ คือ มิติกลไกทางนามธรรม หมายถึง การสัมผัสกระหว่างจุดต่อเชื่อมของอวัยรับรู้กับสิ่งที่มากระทบ (อายตนะภายนอก ผัสสะกับอยาตนะภายใน) ได้แก่ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกรับรู้กลิ่น ลิ้นได้รับรส ผิวกายรับรู้การสัมผัส ร้อน เย็น นุ่ม กระด้าง อีกมิติหนึ่ง คือ มิติกลไกทางรูปธรรม หมายถึง ช่องการสื่อผ่านสื่อสารมวลชน เช่น คลื่นวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง คลื่นเสียงพูด คลื่นแสงจากภาพเคลื่อนไหว เป็นต้น

ผู้รับสาร (reciever) แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มสมาชิก ได้แก่ นักบวช คนวัด สมาชิกองค์กรบุญนิยม และญาติธรรม สารหรือธรรมะ จะต้องมีความเข้มข้น หนักเบา ให้เหมาะสมกับคุณสมบัติ (2) กลุ่มประชาชนทั่วไป สารหรือธรรมะ จะมีลักษณะเบา ไม่ลึกซึ้ง เพื่อให้รับฟังและปฏิบัติตามได้ (3) กลุ่มองค์กรภาคี ส่วนใหญ่จะเป็นองค์ความรู้ที่พอจะประสานกันได้ในเรื่องของกิจกรรมที่ทำร่วมกัน เช่น แผนงาน โครงการ ซึ่งมีการกำหนดนิยามให้ตรงกันก่อน

บริบทของการสื่อสารบุญนิยม
ประกอบด้วย องค์ 4 ประการ ได้แก่

(1) สถาบัน และ องค์กร (Institution & Organization) ซึ่งประกอบด้วย สถาบันบุญนิยม (SBN), องค์กรบุญนิยมอื่นๆ (มูลนิธิ, สมาคม, บริษัท, ร้านค้า), เครือข่ายชุมชน (บ้าน, วัด, โรงเรียน : บวร) หมู่บ้าน ชุมชน กลุ่มผู้ปฏิบัติธรรม และ ชมรม

(2) ทฤษฎีอริยมรรค 8 (The Path) วิถีโลก วิถีธรรม ซึ่งประกอบด้วย สัมมาทิฏฐิเป็นจุดเริ่มต้น ปฏิบัติสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ แวดล้อมด้วย สัมมาสติ สัมมาสังกัปปะ และสัมมาวายามะ แล้วส่งผลให้เกิด สัมมาสมาธิ เป็นพลวัตปัจจัยเกื้อหนุนจนเกิด กายกรรม วิจีกรรม และมโนกรรมที่เป็นกุศลยิ่งขึ้นเรื่อยๆ (อธิบายตามแนววิถีพุทธของสมณะโพธิรักษ์)

(3) กระบวนการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพ ประกอบด้วยปัจจัยนำเข้า (input) ประมวลผล (process) และ ผลที่ได้รับ (output)

Input ปัจจัยนำเข้าของการสื่อสารบุญนิยม อนุโลมตามรูปแบบของทฤษฎีการสื่อสารทั่วไป ได้แก่

เครื่องมือการสื่อสาร (Communication Tools) ซึ่งประกอบด้วย การประชาสัมพันธ์ (Public Relations), การเผยแพร่ธรรมะ (Publicity), การโฆษณาสินค้าและผลิตภัณฑ์ของชุมชน (Advertising), บางฤดูกาลอาจมีกิจกรรมลด แลก แจกแถม (Sale Promotion), ถ้าเป็นเรื่องของคุณธรรม จะมีการสื่อสารพูดคุยสนทนาธรรม ซึ่งถือว่า การปฏิบัติธรรม คือสิ่งที่ชาวบุญนิยมนำออกไปเสนอขาย (Personal Selling) มิใช่ซื้อขายกันด้วยเงิน แต่คือวิถีชีวิตและความศรัทธา, หรือจะใช้วิธีขายตรง (Direct Marketing) ข้าพเจ้าก็เคยเห็นเขาทำกัน

วิสัยทัศน์ (Vision) ที่เกี่ยวกับ คน, ระบบ, และธรรมะ โดยมีทิศทางและมิติลดละต้วตน

หลักการบุญนิยม (Principle) ที่เกี่ยวข้องกับ ระบบบุญนิยม 14 ด้าน, ทฤษฎีอริยมรรคมีองค์ 8, และองค์ความรู้บุญนิยม

ภารกิจ (Mission) ได้แก่ แผนสร้าง แผนซ่อม แผนรักษา แผนพัฒนา การติดตามผล ประเมินผล

Process ยังคงยึดตามแนวทางของรูปแบบจำลองการสื่อสารบุญนิยม ซึ่งขอกล่าวซ้ำอีกครั้งหนึ่ง คือ

S: นักบวช, นักปฏิบัติธรรม, นักบริหาร, นักบริการ, นักทำ

M: เลือกสรร (ดี, ถูกต้อง, ประโยชน์, แก้ปัญหาได้, เป็นไปได้จริง, เป็นศิลปะ, เป็นสิ่งที่ควร, มีสาระ)

C: เทคโนโลยีที่เหมาะสม ลดความเสี่ยง ประโยชน์ ประหยัด

R: กลุ่มเป้าหมายหลัก (นักบวช, นักปฏิบัติธรรม, นักบริหาร, นักบริการ, นักทำ)
กลุ่มเป้าหมายรอง (ประชาชนทั่วไป, สมาชิกองค์กรภาคี)

Output ออกมาเป็น ทุนทางสังคม (Social Ouputs)

องค์ประกอบทุนทางสังคมบุญนิยม

-คนดี (นักบวช, นักปฏิบัติธรรม, นักบริหาร, นักบริการ หรือ อาสาสมัครบุญนิยม, นักทำ)
-สังคมดี สิ่งแวดล้อมดี
-ระบบสาธารณโภคี
-สุขภาวะทางกาย จิต จิตวิญญาณ สังคม

ส่วนประกอบของทุนทางสังคมบุญนิยม

-ความดี
-ความอุดมสมบูรณ์
-ความสมดุล
-พลัง
-คุณค่า

องค์รวมของสังคมบุญนิยม
-มีคนดี ระบบดี ธรรมะดี
-มีกิจกรรม พิธีกรรม และการงานที่ดี (ศาสนา, การเมือง, การเงิน การคลัง, กสิกรรม, สุขภาวะ, ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม, อุตสาหกิจชุมชน, การศึกษา ศิลปะ วัฒนธรรม, การสื่อสาร, เศรษฐกิจ และพาณิชย์, การบริโภค, กฏหมาย, วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, การต่างประเทศ)
-มีองค์กรที่ดี (Volunteer Boonism Organization) ได้แก่ สถาบันบุญนิยม, มูลนิธิ, สมาคม, กองบุญ, เครื่อข่ายชุมชน, เครือข่ายกิจกรรม)
-มีการบริหารจัดการที่ดี
-ทรัพยากร เครื่องมือ อุปกรณ์
-ความสืบต่อ การเรียนรู้

 

 

ผังกระบวนการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพ


องค์กรบุญนิยม ดำเนินกิจกรรม 14 ด้าน ประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ กว่า 70 หน่วยงาน กระจายไปตามจังหวัดต่างๆ มีสำนักงานกลางอยู่ที่กรุงเทพ สิ่งที่เป็นปัจจัยนำเข้า (input) ขององค์กรบุญนิยมให้ดำเนินต่อไปคือ วัตถุดิบต่างๆ และทุนทางสังคม สร้างสิ่งที่เป็นองค์ความรู้ ผลิตภัณฑ์ ข้อมูลข่าวสาร และธรรมะ ผ่านสื่อบุญนิยม 7 ประเภท ไปสู่สมาชิกองค์กร และประชาชนทั่วไป เพื่อให้เกิดคุณธรรมที่ต้องการ นั้นคือคุณภาพและศักยภาพของความเป็นมนุษย์และสังคมที่สมบูรณ์ ซึ่งจะเป็นผลสะท้อนกลับ (feedback) และเป็นปัจจัยนำเข้าในรอบใหม่ต่อไป

 

จากทฤษฎีของ Berlo ถึง Kaviya พัฒนาเป็น
ทฤษฎีการสื่อสารบุญนิยม.

SMCR คือ รูปแบบพื้นฐานการสื่อสารของนักนิเทศศาสตร์ระดับโลก ที่ชื่อว่า David K. Berlo ได้รับความนิยม จนกลายเป็นแบบจำลองการสื่อสารมาตรฐานไปแล้ว เพราะตรงตามหลักธรรมชาติในการสื่อสารของมนุษย์มากที่สุด แต่ก็ยังมีส่วนไม่สมบูรณ์ Lasswell จึงได้เพิ่ม E ซึ่งหมายถึง effect ต่อท้าย เป็น SMCRE และ Roger ก็ยังค้นพบอีกว่ายังไม่พอต้องมี F ซึ่งหมายถึง feedback ปิดท้ายเป็น SMCREF ซึ่งดูแล้วน่าจะสมบูรณ์ แต่เนื่องจากรูปแบบจำลองก็ยังเป็นของจำลอง (model) อยู่นั่นเอง นักนิเทศศาสตร์ชาติต่างๆ ก็พยายามตกแต่งเสริมเติมให้สมบูรณ์ที่สุด จึงเกิดทฤษฎีลูกแตกกิ่งออกไปตั้งมากมาย ให้เป็นประเด็นศึกษาเรียนรู้ต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.สมควร กวียะ ก็เป็นนักนิเทศศาสตร์อีกผู้หนึ่ง ที่ข้าพเจ้ารู้จักและให้ความเคารพนับถือท่านมาก ในฐานะที่เป็นทั้งนักคิด และเป็นครูบาอาจารย์ที่พร้อมด้วยความรู้ ท่านได้วิเคราะห์แล้วว่า รูปแบบจำลองการสื่อสารที่ตรงกับชีวิตจริงของมนุษย์ในยุคการสื่อสารไร้พรหมแดนนั้นจะต้องประกอบไปด้วย SIMMCREFI

S คือ Source แหล่งข้อมูล I คือ Information ข่าวสารที่ถูกประดิษฐ์ขึ้น M คือ Message สารหรือสาระ M คือ Medium สื่อซึ่งเป็นพาหะส่งสาระไปตามช่องทางต่างๆ C คือ Channel ช่องทางที่ส่งสารและสื่อไป R คือ Reviever ผู้รับสาร E คือ Effect ผลสะท้อนที่แก่ผู้รับสารหลังได้รับสารแล้ว (=การรับรู้) F คือ Feedback ผลสะท้อนกลับ (=re-action) และ I คือ Interaction การเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารโดยอาศัยและผ่านสื่อที่หลากหลาย

ข้าพเจ้าเห็นว่าแบบจำลองของ รศ.ดร.สมควร กวียะ มีรายละเอียดตรงกับวิถีชีวิตของคนบุญนิยมมากที่สุด แต่ฐานความคิด และวิถีชีวิตของชาวอโศก ที่ดำเนินและเป็นไป มีลักษณะเฉพาะต่างไปจากสังคมทั่วไป ในกระบวนการการสื่อสารของระบบบุญนิยมให้ความสำคัญกับตัวผู้ส่งสาร ตัวสาร และผู้รับสาร เป็นประเด็นสำคัญ ดังนั้นการสื่อสารที่สิ้นสุดเพียง Interaction ยังไม่เพียงสำหรับการพัฒนาคนให้เป็นถึงขั้นชาวอาริยะชน จะต้องมีกระบวนการการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพในความเป็นมนุษย์แทรกเข้าไปในระหว่าง EFI ด้วย การพัฒนาคุณภาพและศักยภาพนั้น ก็คือหลักของอริยมรรค มีองค์ 8 ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมาถึงตรงนี้ ข้าพเจ้าจึงได้ออกแบบจำลองการสื่อสารบุญนิยม ดังนี้


ผู้ส่งสารและผู้กำหนดสาร คือผู้มีศีล ได้แก่นักบวช หรือผู้นำองค์กร เพราะจะเป็นผู้มีภูมิธรรม และภูมิรู้ดีที่สุด สารที่ที่สร้างขึ้น คือธรรมะ และองค์ความรู้บุญนิยม ส่งผ่านสื่อบุญนิยม 7 ประเภท (สื่อบุคคล สื่อวัตถุ สถานที่ สื่อกิจกรรม สื่อเอกสารสิ่งพิมพ์ สื่อมัลติมีเดีย สื่อโทรคมนาคมและสารสนเทศ และสื่อปราศรัย) ถ้าเป็นการสื่อสารระหว่างบุคคล หรือการสื่อสารระหว่างองค์กร ถ้าเป็นการสื่อสารภายในบุคคล ใช้ผัสสะเป็นสื่อ ส่งไปยังผู้ปฏิบัติธรรมซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก และสมาชิกภาคี เป็นเป้าหมายรอง โดยมีการประเมินผล (effect, feedback, interaction) ว่าได้เกิดกระบวนการพัฒนาคุณภาพศักยภาพ ทั้งคน และระบบ มากน้อยเพียงไร อย่างไร เพื่อนำผลการประเมินให้ผู้ส่งสารรับทราบ เพื่อรักษา ซ่อม และพัฒนา ต่อไป

การประยุกต์ใช้ระบบการสื่อสารเพื่อการพัฒนามนุษย์.

เมื่อศึกษาธรรมะ จนถึงระดับหนึ่งแล้ว ทำให้ข้าพเจ้าคิดออกว่า แท้ที่จริงแล้วปัจจัยสำคัญในการพัฒนามนุษย์ประการหนึ่งก็คือ ระบบการสื่อสารนี่เอง ความคิดนี้ได้เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าก็ตอนมาอยู่คณะนิเทศศาสตร์ กำลังเรียนปริญญาโท สาขาการบริหารการสื่อสาร ที่มหาวิทยาลัยเกริก

การพัฒนามนุษย์ในความหมายนี้ หมายถึง การสร้างวิถีชีวิตของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้เกิดความผาสุก 4 ประการด้วยกัน คือ เกิดสุขภาวะทางกาย (Physical Health) สุขภาวะทางจิต (Psychological Health) สุขภาวะทางจิตวิญญาณ (Used Emotion Health) และ สุขภาวะทางสังคม (Environment and Public Health)

ความผาสุกทางกาย หมายถึง การมีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์ แข็งแรง ร่างกายมีภูมิคุ้มกันทางโรคสูง ความผาสุกทางจิต หมายถึง การมีสุขภาพจิตที่ดี เป็นปกติ มีสติการรับรู้ การตอบสนองต่อสิ่งเร้าตามปกติ ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามวัย ความผาสุกทางจิตวิญญาณ หมายถึง การมีอารมณ์ที่ดี รู้จักควบคุมอารมณ์ใฝ่ต่ำ มิให้สำแดงฤทธิ์ ทำได้จนเป็นปกติ (สมาธิ คือ ความตั้งมั่นของจิตใจที่ไม่ยอมอยู่ภายใต้อำนาจความต้องการ ทะยานอยากของกิเลส ตัณหา อุปาทาน แม้จะถูกยั่วอย่างไรก็ตาม ก็ควบคุมได้ ก็เรียกสภาวะนี้ว่า มีความผาสุกทางจิตวิญญาณ) และความผาสุกทางสังคม หมายถึง การจัดองค์ประกอบทางสังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วย พืช สัตว์ คน ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ฟ้า อากาศ เสียง แสง (สภาวะความสมดุลระหว่าง ดิน น้ำ ไฟ ลม)

ในบรรดาความผาสุกทั้งหมด เรื่องของจิตวิญญาณ เป็นสิ่งที่ทำได้ยากที่สุด และเป็นต้นเหตุแห่งการทำลายความผาสุกทุกข้อที่กล่าวมา ดังนั้น การนำระบบการสื่อสารมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาให้เกิดความผาสุกทั้ง 4 ประการ จึงถือเป็นบทบาท และภาระหน้าที่ของการสื่อสาร โดยเฉพาะ

หากจะแบ่งกรอบแนวคิด เพื่อบ่งบอกภารกิจและบทบาทของการสื่อสาร ที่มีต่อมนุษย์แล้ว อาจแบ่งได้เป็น การสื่อสารมวลชน (Mass Media Communication), การสื่อสารการเมือง (Political Communication), การสื่อสารการตลาดและธุรกิจ (Marketing & Bussiness Communication), การสื่อสารบูรณาการ (Integrated Communication), การสื่อสารเพื่อการพัฒนามนุษย์ (Human Development Communication) และ การสื่อสารการศึกษา (Education Communication)

ดังนั้น ภารกิจสำคัญของการสื่อสารเพื่อพัฒนามนุษย์ จึงมุ่งประเด็นของจิตวิญญาณ เป็นสำคัญ ตามความเห็นของสำนักบุญนิยม (boonism) ของสถาบันบุญนิยม (Establishment Boonniyom) ซึ่งเครือข่ายชาวอโศกเป็นผู้ให้กำเนิดแนวคิดนี้ โดยใช้คำเรียกพฤติกรรม วิถี แนวคิดทั้งหมดว่า “บุญนิยม”

แนวคิดนี้ให้ความสำคัญในการสร้าง “คน” กับ “ระบบ” ไปพร้อมๆ กัน กล่าวคือ คนดี ย่อมสร้างระบบที่ดี ระบบที่ดี ย่อมส่งเสริมให้คนดี ทำดีได้สะดวกขึ้น ขณะเดียวกันก็ป้องปรามคนเลว มิให้มีโอกาสทำเลว ส่วนคนเลว ย่อมสร้างระบบที่เลว ระบบที่เลว ย่อมส่งเสริมให้คนเลว ทำเลว-ชั่วได้สะดวกขึ้น ในขณะเดียวกันก็กีดกันคนดี ให้ทำดีได้ยาก ดังนั้น คำว่า “ดี” กับคำว่า “บุญ” จึงเป็นสิ่งเดียวกัน เพราะ ดี ในความหมายของบุญ คือการดำเนิน (process) กิจกรรม หรือพิธีการ (activity) ในมิติของการ ลด ละ เลิก ในสิ่งที่เกาะเกี่ยว ติดยึด (รวมเรียกว่า “อัตตา” ในภาษานักการศาสนา เรียกว่า การสำรอกกิเลส) ในทางกลับกัน เลว ก็คือ มิติของการ เสพ สูบ บริโภค ตามอำนาจความต้องการส่วนเกิน

จากแนวคิด อุดมการณ์บุญนิยม ที่ข้าพเจ้าคลุกคลีอยู่มาตลอดนับสิบปี ได้ส่งผลผลักดันให้เกิดมวล (mass) และพลัง (power) ของ “บุญ” ที่ฝัง และแนบแน่นไปกับกลุ่มคนที่ได้รับการขัดเกลา หล่อหลอมจากแม่แบบที่ดี (สมณะ และ สิกขมาตุ) ในระยะแรกมาปฏิบัติธรรม ผู้ที่ทนการขัดเกลาไม่ไหวก็เลิกราไป ส่วนผู้ที่อยู่และผ่านการพิสูจน์สัจจะความจริงที่ตนมี ตนได้ ตนเป็น ก็จะเป็นเนื้อแท้ช่วยงานศาสนา ช่วยสังคมต่อไป การหมุนเวียนของเหล่านักรบกองทัพธรรมมีเวียนเข้าเวียนออก ปีแล้วปีเล่า จากปริมาณมากเหมือนปากกวยในปีแรกๆ ไปสู่แก่นแกนที่ปลายกวย แม้ปริมาณจะลดลง แต่ก็แน่นด้วยเนื้อหาสาระของความเป็นคนบุญนิยม เพื่อเป็นแม่แบบต่อยอดให้แก่คนในรุ่นใหม่ในแต่ละรอบของการเวียนเข้ามาของผู้คน ที่ต้องการมาพิสูจน์ในหลักการของบุญนิยม

การสื่อสารภายในบุคคล กับการสื่อสารระหว่างบุคคล
ในองค์กรบุญนิยม.

ในการเผยแพร่ศาสนา หรือธรรมะ ของสมณะโพธิรักษ์ ท่านใช้กลยุทธ์ทั้งการสื่อภายในบุคคล และการสื่อสารระหว่างบุคคล โดยได้สาธยาย บรรยายบอกในช่วงทำวัตรเช้า ช่วงก่อนฉัน และในโอกาสต่างๆ ซึ่งพอจะอธิบายได้ว่า

การสื่อสารภายในบุคคล (Intra Communication)

เป็นการสื่อสารทางนามธรรม รู้ได้เฉพาะตน ผู้ที่มีความรู้ ทัศนคติ คุณธรรมในระดับเดียวกันเท่านั้น จึงจะพิสูจน์กันได้ ดังนั้น การสื่อสารภายในบุคคล จึงเป็นเรื่องส่วนบุคคล (personality) มากกว่าเป็นเรื่องทั่วไป แต่ความเป็นส่วนบุคคลดังกล่าว ก็สามารถพิสูจน์ได้จากประเมินพฤติกรรม ที่ผ่านการเสร้างเงื่อนไข

การสื่อสารภายในบุคคล แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

 

(1) การสื่อสารภายใต้จิตสำนึก เป็นการประมวลประสบการณ์ที่ได้รับทางอวัยะ เป็นพฤติกรรมรอยต่อระหว่างจุดเชื่อมต่อภายใน (อายตนะภายใน) และ จุดเชื่อมต่อภายนอก (อายตนะภายนอก) จุดเชื่อมต่อภายในได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้ม กาย ใจ จุดเชื่อมต่อภายนอก ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์ การรับรู้ไม่ว่าระดับขั้นใดๆ ย่อมสั่งสมลงในจิตวิญญาณ (ความจำได้หมายรู้) นั่นคือมีการสื่อสารเกิดขึ้นตลอดเวลา โดยบุคคลไม่รู้ตัว นั่นคือเกิดการเรียนรู้ เลียนแบบ จากสื่อที่พบเห็นอยู่ตลอดเวลา ตราบเท่าที่อวัยวะและสติสัมปชัญญะมนุษย์โดยปกติ คนบ้าก็มีการสื่อสาร แต่ไม่สามารถอธิบายบอกผู้อื่นได้ เนื่องจาก ขาดสติสัมปชัญญะ ขาดการใช้สัญลักษณ์ หรือบุคคลที่มีจิตภาพผิดปกติเพศ เช่น พวกบัณเฑาะว์ (กระเทย ทอมดี้ ตุ๊ด) ประสิทธิภาพในการรับรู้จะเบี่ยงเบนไปตามอารมณ์ และทัศนคติที่ยึดมั่นของตน โดยที่ตนเองไม่รู้ตัว (คนบ้า จะไม่ยอมรับว่าตัวเองบ้า หรือคนที่ยอมรับว่าตนเองบ้า แต่ไม่แก้ไข คือคนดื้อ หรือ ปทปรมะ) หรือไม่ยอมรับในความผิดปกติเพศ

การสื่อสารภายใต้จิตสำนึก เป็นเรื่องของการสร้างสุขภาวะทางจิตวิญญาณ น่าจะเป็นแขนงวิชาหนึ่งที่มีการศึกษาค้นคว้าต่อไป (การสื่อสารเพื่อการพัฒนาสุขภาวะจิตวิญญาณ: Used Emotion Health Communication) โดยเฉพาะกันคนในเอเชีย ซึ่งมีวัฒนธรรมแตกต่างจากตะวันตก เพราะวิทยาการทางจิตที่ให้คนในเอเรียนแทนที่จะเป็นนักวิชาการตะวันออก กลับเป็นนักวิชาการตะวันตก

(2) การสื่อสารโดยสติสัมปชัญญะ หมายถึงการสื่อสารแบบลืมตาเห็นๆ โดยปกติวิสัยประจำวันของมนุษย์ ที่เริ่มกิจกรรมตั้งแต่ตื่นนอน จนกระทั่งเข้านอน จัดเป็นการสื่อสารโดยสติสัมปชัญญะ แต่ถ้าสติสัมปชัญญะถูกทำลาย ณ ช่วงเวลาใดๆ ช่วงเวลานั้นก็จะเกิดอุปสรรคในการสื่อสาร แต่ยังคงมีการสื่อสารภายใต้จิตสำนึกอยู่

การสื่อสารภายใน เป็นกิจกรรมที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยบุคคลคนเดียวกัน โดยอาศัยปัจจัยภายนอกเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ โปรดดูรายละเอียดการสื่อสารภายในในหัวข้อทฤษฎีการสื่อสารบุญนิยม

การสื่อสารระหว่างบุคคล

การสื่อสารระหว่างบุคคล เป็นการสื่อที่จำเป็นต้องใช้สื่อกลาง (Medium) มาเป็นพาหะ เพราะผู้ส่งสารกับผู้รับสาร มีปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณา คือ

(1) สถานที่ (place) ทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสารอาจมองไม่เห็นหน้ากัน อยู่คนละที่ แต่ก็สื่อสารกันได้

(2) ตำแหน่ง (position) ผู้ส่งสาร กับผู้รับสาร มีสถานภาพทางหน้าที่การงาน อาชีพ เชื้อชาติ ความเชื่อถืออาจเหมือนกัน หรือแตกต่างกันก็ได้ แต่ต้องการติดต่อสื่อสารกัน ซึ่งมีปัจจัยต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง หรือรบกวน ได้แก่ การใช้ภาษา การใช้สัญลักษณ์ การตีความ การเลือกสถานการณ์ และเวลาที่จะติดต่อสื่อความหมายกัน จำเป็นต้องมีสื่อกลางมาเป็นสื่อพาสารไป

(3) เวลา (time) ทั้ง ระยะเวลา (clock หรือ นาฬิกา) จำนวนเวลา (นาที ชั่วโมง วัน เดือน ปี) และครั้ง (Times) เนื่องจากทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสาร ไม่สามารถหาเวลาในเงื่อนไขต่างๆ ได้ตรงกัน จึงจำเป็นต้องมีสื่อกลางในการพาสารไป

มิติของเวลา (Dimention of Time) ข้าพเจ้าได้ผูกเป็นคำย่อ QSTROP หมายถึงมิติทั้ง 6 ข้อ ได้แก่

Quantity คือ การบอกขนาด หรือรูปทรงของเวลา มีหน่วยนับเป็น วินาที นาที ชั่วโมง วัน สัปดาห์ เดือน ปี ทศวรรษ ศตวรรษ เช่น 60 วินาที, 60 นาที, 24 ชั่วโมง, 30 วัน, 4 สัปดาห์, 12 เดือน, 10 ปี, 10 ทศวรรษ, 1 ศตวรรษ เป็นต้น

Sequence คือ การจัดลำดับก่อนหลัง ใช้หน่วยนับเป็นตัวเลข เช่น ที่ 1. ที่ 2. ที่ n…, ใช้หน่วยนับเป็นวลี เช่น เมื่อวาน วันนี้ พรุ่งนี้ หน่วยนับเป็นเหตุเป็นผล เช่น หลังจากนั้น ดังนั้นจึง เมื่อ…จึง…

Times คือ การบ่งความถี่ของการกระทำ หรือปรากฏการณ์ของสิ่งใดๆ ใช้จำนวนครั้งเป็นหน่วยนับ เช่น 1 ครั้ง, 2 ครั้ง, n ครั้ง เป็นต้น

Relation คือ การบ่งบอกสัดส่วน หรืออัตราส่วน ที่แสดงความสัมพันธ์หรือผกผันกันระหว่าง (1) หน่วยเวลา กับหน่วยเวลา ใช้จำนวนเท่าเป็นหน่วยนับ เช่น ความเร็ว 10 เท่า (2) หน่วยเวลากับหน่วยมาตราอื่น เช่น ความเร็ว 10 กิโลเมตร ต่อ ชั่วโมง ความจุ 5 ลบ.ม. ต่อ 1 นาที น้ำหนักเพิ่ม 50 กรัม ทุกๆ 1 วินาที เป็นต้น

Opportunity คือ การบ่งบอกความไม่แน่นอนว่า มีหรือไม่มี ได้หรือไม่ได้ เป็นหรือไม่เป็น เรียกว่า โอกาส บางครั้ง บางสถานการณ์ก็มีโอกาส หรือได้โอกาส หรือเป็นโอกาส ในการสอดแทรกเข้าไปร่วมกิจกรรม ในการกำหนดหรือหาโอกาส ถ้าเกี่ยวกับกลไกลทางวัตถุ หรือเทคโนโลยี ใช้หลักทฤษฎีความน่าจะเป็นมาวิเคราะห์ ถ้าเกี่ยวกับคน องค์กร การใช้อำนาจ ใช้หลักทฤษฎีความประพฤติ และหลักทางสังคมศาสตร์เข้ามาช่วยวิเคราะห์) โดยใช้คำว่า “มี - ไม่มี”, “ได้-ไม่ได้”, “เป็น-ไม่เป็น” เป็นหน่วยประสิทธิผล

Point คือ การบ่งบอกความหมาย ณ จุดเวลาใดๆ มีหน่วยความหมายเป็น นาฬิกา (น.) เช่น 06.30 น., 24.00 น. วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2549 เป็นต้น

(4) คุณภาพของสาร (Quality Message) ทั้งด้านกายภาพ และบริบทของสาร ด้านกายภาพ ได้แก่ มิติ รูปทรง สัดส่วน ขนาด สี แสง กลิ่น รส ความรู้สึกเมื่อสัมผัส ส่วนบริบทของสาร ได้แก่ ความหมาย และการตีความ ระดับความยากง่ายของภาษาและสัญลักษณ์ ความเหมาะสมของพาหนะหรือช่องทาง ในการพาสารไปยังผู้รับ ตลอดจนสิ่งรบกวน หรืออุปสรรคต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการส่งสาร

(5) ระดับความสามารถในการใช้หรือเข้าถึงสื่ออุปกรณ์ เป็นความสามารถส่วนบุคคล ทั้งของผู้ส่งสารและผู้รับสาร ดังนั้นจำเป็นต้องมีเครื่องมือมาช่วย connect ให้เกิดการสื่อสารครบกระบวนการ

(6) ทัศนคติ ทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสาร มีทัศนคติที่ต่างกัน ย่อมมีผลต่อการแสดงพฤติกรรมในการรับสารต่างกัน ดังนั้น จำเป็นต้องมีสื่อกลางมาคอยช่วยลดทอนความต่างของทัศนคติดังกล่าวด้วย

(7) อารมณ์ เป็นเงื่อนไขประการหนึ่งที่ทำให้เกิด noise (สิ่งรบกวนในการรับ-ส่งสาร) หรือเป็นตัวเสริม boot ให้เกิดพลังหรือประสิทธิภาพในการส่ง-รับสาร กล่าวคือ อารมณ์ดี มี emotion สูง ก็มีความสามารถในการข่าวสารได้ดีกว่าช่วงที่มีอารมขุ่นมัว เป็นต้น จึงจำเป็นต้องมีสื่อมาเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้

ข้าพเจ้าเห็นว่า ปัจจัยทั้ง 7 ประการนี้ คือส่วนสำคัญที่น่าสนใจ นำไปวิเคราะห์ระบบการสื่อสารต่อไปได้

ข้าพเจ้าชอบใจในการนิยามความหมายของ รศ.ดร.สมควร กวียะ ที่ให้นิยามคำว่า Eco-communucation หรือ Ecological Communication แปลว่า นิเวศนิเทศ หมายถึง การสื่อสารที่มุ่งอนุรักษ์ชีวิตและที่อาศัยของชีวิต คือ โลก ตามพื้นฐานแนวคิดสาขานิเวศวิทยา (รศ.ดร.สมควร กวียะ. นิเทศศาสตร์เพื่อชีวิต) เพราะเหตุว่า ระบบการศึกษา และระบบความคิดของคนไทย ไปติดยึดกับกรอบคิดแบบแยกส่วน ที่มองว่าชีวิตคือกลไก ซึ่งเป็นอิทธิพลทางความคิดจากเดส์คาตส์ และนิวตัน ส่งผลให้มนุษย์มองวัตถุ พืช สัตว์ มนุษย์ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เป็นวัตถุชิ้นหนึ่ง มีองค์ประกอบที่แยกขาดจากกัน เหมือนเครื่องจักรกล การแยกชิ้นส่วนออกจากกันจึงไม่มีผลใดๆ ต่อความสัมพันธ์ด้านจิต จิตวิญญาณ ที่เชื่อมต่อระหว่าง วัตถุ พืช สัตว์ เพื่อนมนุษย์เหล่านั้น เฉกเช่นเดียวกับวัตถุ ที่ไม่มีชีวิตจิตใจ นับเป็นความคิดที่อันตรายมากๆ เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อแนวคิดทางศาสนาเลยทีเดียว ส่งผลให้วิทยาการเรียนรู้ที่มาจากสถาบันการศึกษา เป็นการเรียนรู้แบบแยกส่วน เช่น จักษุแพทย์ ก็จะยุ่งแต่เรี่องน้ยน์ตา ศัลยแพทย์ ก็จ้องแต่จะผ่าลูกเดียว ครูก็คอยแต่จะให้การบ้านเยอะๆ กลัวนักเรียนจะโง่ สุดท้ายผู้เรียน ผู้ป่วย กลายเป็นผู้รับผลกรรม โดยไม่คำนึงถึงองค์ประกอบอื่นๆ ของควาามโง่ ความเจ็บป่วย ซึ่งเกี่ยวข้องกับจิตใจ จิตวิญญาณ ของคน

ถ้าท่านใดอ่านหนังสือเรื่อง จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ (The Turning Point) ซึ่งเขียนโดย Fritjof Capra นักวิทยาศาสตร์ และนักสื่อสารมวลชน แปลโดยพระประชา ปสนนธมโม พระไพศาล วิสาโล คุณสันติสุข โสภณสิริ และคุณรสนา โตสิตระกูล ซึ่งแปลไว้เมื่อ 20 ปีก่อน อ่านให้ครบทั้ง 3 เล่ม แล้วท่านจะมองโลกต่างจากที่ท่านรู้สึก ณ นาทีนี้เลยทีเดียว ข้าพเจ้ารู้จักกับบุคคลทั้งสี่ท่าน ซึ่งถือว่าเป็นสื่อบุคคลที่มีคุณูปการต่อวงการนักคิดร่วมสมัย หนังสือเล่มนี้แม้จะเขียนไว้นานแล้ว แต่สัจจะก็ยังเป็นสัจจะ เนื้อหาจึงร่วมสมัยใหม่เสมอ

จะเห็นได้ว่าแนวคิดแบบแยกส่วน เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ ระบบนิเวศ ไม่จำกัดขอบเขตแค่เรื่องของสิ่งแวดล้อม เรื่องพืช เรื่องสัตว์ เท่านั้น ข้าพเจ้าคิดแบบองค์รวม ทำให้นึกถึงระบบนิเวศขององค์กร เพราะองค์กรประกอบด้วยคน ระบบ การบริหารจัดการ ซึ่งอย่างไรเสียก็เกี่ยวกับคนอยู่ดี ทำอย่างไรจะทำให้สมาชิกองค์กรทำงานร่วมกันอย่างผาสุก การจัดระบบนิเวศองค์กรจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ข้าพเจ้าให้นิยามคำว่า Ecological Organism หรือ ระบบนิเวศองค์กร หมายถึง การบริหารจัดการ และการจัดระบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรของกับองค์กร ให้เกิดความสมดุล และเกิดสุขภาวะ ทั้งในด้าน กาย จิตใจ จิตวิญญาณ สังคม ตลอดจนสิ่งแวดล้อมภายในองค์กรนั้น

หนังสือธรรมะ คือ เจ้าใบ้เสียงดัง.

ข้าพเจ้ารู้จักกับชาวอโศกตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 ตอนนั้น เป็นครูสอนนักเรียนระดับประถมศึกษา ในตำบลที่ห่างไกลจากตัวจังหวัดไปราว 72 กม. ศึกษาธรรมตามแนวคำสอนท่านพุทธทาสมาก่อน อ่านงานเขียนของท่านพอประมาณ รู้สึกว่า ยังมีอะไรที่ต้องแสวงหาต่ออีก แต่ยังนึกไปออก สอนหนังสือไปในความรู้สึกมึนๆ กับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่กระทรวงศึกษาจัดให้ มันเหมือนเครื่องจักรกล จับยัดใส่นักเรียน จะคิดอย่างอิสระก็ไม่ได้ อยากจะเรียนในสิ่งที่อยากรู้ก็ทำไม่ได้ พบธรรมะก็หาแนวปฏิบัติไม่ชัดเจน

วันหนึ่งมีสิ่งหนึ่งผุดขึ้นมาในสมอง ที่จริงเราก็เคยได้ยินคำว่า “อโศก” มาก่อน เมื่อครั้ง คราวเกิดเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 เราก็เคยได้ยินคำนี้ เคยอ่านหนังสือ “ค่าอย่างไร ที่สังคมควรนิยม” ลงท้ายว่า อโศก…เพื่อมวลมนุษยชาติ ฟังแล้ว ดูมันน่าสนใจ

จึงตัดสินใจเขียนจดหมายไปขอหนังสือธรรมะ จากมูลนิธิธรรมสันติ โดยแนะนำตัวเองว่า เป็นใครมาจากไหน และกำลังศึกษาอะไรอยู่ เท่านั้นแหละ พระท่านที่รับหน้าที่เป็นธรรมปฏิกรรม ท่านก็เมตตาส่งหนังสือวารสารรายสามเดือนชื่อ แสงสูญ ส่งมาทางไปรษณีย์ ราว 6 เล่ม และคู่มือปฏิบัติธรรม กฎระเบียบของชาวอโศก มาให้ด้วย ข้าพเจ้าตั้งใจอ่านอย่างไม่ละสายตาย จนจบ ครั้งแรกอ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะภาษาที่ท่านโพธิรักษ์ใช้ ท่านเขียนและอธิบายจากสิ่งที่ท่านรู้ ท่านเข้าใจ และเป็นสิ่งที่ท่านทำได้ คืออธิบายจากประสบการณ์จริง มิใช่สอนตามตำรา โดยสิ่งที่ท่านนำมาสอน เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า (ตามพระไตรปิฎก) แต่ก็รู้สึกได้สัมผัสได้ว่า นี่แหละ เราเจอของจริงแล้ว พบแล้วทางออกที่แสวงหา จากการได้อ่านหนังสือ ซึ่งเปรียบเหมือนคนใบ้ แต่ส่งเสียงดังในโสตประสาท ที่เรียกว่า เจ้าใบ้เสียงดังนั่นถูกแล้ว สื่อที่มีสาระ ย่อมทำให้คนอ่านเป็นคนมีสาระไปด้วย

สรุปว่า เราต้องกระทำที่ตนเองให้ได้ก่อน ก่อนที่จะไปคาดหวังให้สังคมเป็น ขนาดตัวเราเองยังทำไม่ได้ตามที่เราต้องการ เสียเวลาเปล่ากับการไปคาดหวังผู้อื่นให้ทำตามใจเรา นั่นหมายถึงว่า สิ่งใดที่เรายังติดยึด ยังหลอกตัวเองอยู่ มันเหมือนพันธนาการตัวเอง ให้หมกหมักอยู่กับความไร้อิสระภาพ เมื่อทดสอบลดละเลิกสิ่งที่ติดยึด (ข้าพเจ้าไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า อบายมุขอื่นๆ ก็ไม่มีอยู่แล้ว ก็เลยละได้ง่าย) เคยติดในรสของเนื้อสัตว์ก็เลิกให้ได้ก่อน เมื่อตั้งใจปฏิบัติธรรม สิ่งที่เป็นพื้นฐานต้องทำให้ได้ นั่นคือศีลข้อ 1 ละเลิกการฆ่า เมื่อการกินยังเป็นเหตุแห่งการฆ่า เราต้องไม่ให้มี การเอาชีวิตคนอื่นมาต่อชีวิตตนเอง เป็นความโหดร้าย การกินเนื้อเพื่อนไปด้วย แผ่เมตตาไปด้วย รู้สึกขัดกัน ถ้าสัตว์เหล่านั้นมันพูดได้ มันคงด่าเราแล้วว่า “ตอแหล” สิ้นดี ถ้าเห็นแก่ตัวมาก ก็จะเห็นแก่ผู้อื่นน้อย ถ้าลดความเห็นแก่ตัวลง จิตใจก็จะสูงขึ้น

ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือ “สมาธิพุทธ” ที่พ่อท่านพระโพธิรักษ์เขียนไว้ ท่านได้นำหลักอริยมรรค ในมหาจัตตารีสกสูตร ซึ่งเป็นสูตรของพระพุทธเจ้ามาตีความให้ปฏิบัติได้จริง ซึ่งต่างจากการตีความแบบที่พระในมหาเถรสมาคม ซึ่งอ่านแล้วไม่เข้าใจ ที่สำคัญคือยังไม่มีพระรูปใดที่ยกพระสูตรมหาจัตตารีสกสูตร มาอรรถาธิบาย เพราะการตีความต่างกันนี่เอง เป็นเหตุให้เกิดความไม่เข้าใจกันระหว่าง พระชาวอโศก กับพระผู้ใหญ่ทางเถรสมาคม ทั้งๆ ที่หยิบยกธรรมะจากพระไตรปิฎกเล่มเดียวกัน ข้าพเจ้าเลือกเอาทางที่ตีความแล้วได้ประโยชน์ตนเองด้วย คือกิเลสลด และได้ประโยชน์ผู้อื่นด้วย คือเกิดความพึงพอใจที่จะเสียสละเพื่อผู้อื่น โดยไม่คิดว่าเสียเปรียบ เพราะการเสียเปรียบ คือการ “ได้” คือได้เสีย แล้วจะทำให้เข้าใจประชาชนในระดับล่างๆ (ระดับรากหญ้า) ว่าพวกเขาถูกเอาเปรียบจากชนชั้นปกครองอย่างไร พวกเขาเดือดร้อนอย่างไร

ข้าพเจ้าได้ดี เพราะได้ปฏิบัติธรรม ได้ดีคือ ได้รู้ถึงคุณค่าของตนเอง ที่เป็นคนลดภาระของตนเอง กินง่ายๆ อยู่ง่ายๆ อ่อนน้อมถ่อมตน ยืนหยัดในสิ่งที่ควรยืนหยัด ยืดหยุ่นในสิ่งที่ควรยืดหยุ่น มักน้อย คือเอามาน้อยๆ ทั้งๆ ที่รู้ว่าน้อย สันโดษ คือรู้พอ ทั้งๆ ที่เอามากกว่านั้นก็ได้ ขยัน คือ ทำมากๆ อย่าขี้เกียจ ทั้งๆ ที่รู้ว่า ทำมากก็แจกจ่ายให้คนอื่น ไม่สะสม เพราะการสะสมเป็นบ่อเกิดแห่งความมักมาก ทั้งๆ ที่รู้ว่า การมักมากนั้นเป็นความต้องการของใจ (กิเลส)

ไม่ปฏิเสธทฤษฎีการสื่อสารตะวันตก.

ได้ปฏิบัติธรรมแนวอโศก มิใช่ว่าข้าพเจ้าจะละทิ้งเพื่อนมนุษย์ ยังคงสัมพันธภาพอันดีกับคนในศาสนาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นชาวคริสต์ ชาวอิสลาม หรือกลุ่มที่นับถือเจ้าแม่กวนอิม เพราะพวกเขาก็มีวัฒนธรรมที่ดี มีระบบการสื่อสารการเผยแพร่ศาสนาของเขา มาจนทุกวันนี้ ข้าพเจ้าได้ใช้ระบบการสื่อสารบุญนิยม เชื่อมสัมพันธกับองค์กรภาคี มาตลอด ข้าพเจ้าแบ่งยุคของการสื่อสารของระบบบุญนิยม ออกเป็น 3 ยุค คือ (1) ยุควจนภาษา (2) ยุคอนาล็อก และ (3) ยุคดิจิตอล

ยุควจนภาษา

เป็นยุคที่เน้นการสื่อสารแบบภายในบุคคล ไปสู่การสื่อสารระหว่างบุคคล โดยเริ่มจากพระโพธิรักษ์ อดีตครูเพลง รัก รักพงษ์ ถือเป็นบุคคลในวงการสื่อสารมวลชนผู้โด่งดัง มีชื่อเสียงจากการแต่งเพลงผู้แพ้ ตั้งแต่สมัยอยู่ชั้นมัธยม เรียนจบเพาะชั่ง เป็นครูสอนหนังสือ เป็นนักจัดรายการวิทยุโทรทัศน์ ช่อง 4 บางขุนพรหม สร้างภาพยนตร์ “โทน” จนมีชื่อในวงการ มีรายได้ต่อเดือนสูงกว่านายกรัฐมนตรี สนใจไสยศาสตร์ ทรงเจ้า รับตั้งศาลพระภูมิ เล่นกับจิต สะกดจิต จนพบคำตอบด้วยตนเองว่า กำลังอยู่กับมายา ไม่ใช่สาระของชีวิต ชีวิตที่มีสาระอยู่ที่การปฏิบัติธรรม จึงเริ่มหันมาปฏิบัติธรรม แสดงธรรมได้อย่างน่าฟัง ชัดเจน แต่ก็ไม่ได้รับความเชื่อถือ เพราะยังเป็นฆราวาส เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในธรรม จึงบวชเป็นพระสงฆ์ เมื่อ ปี พ.ศ.2518 ตั้งสำนักธรรมอยู่ที่แดนอโศก จ.นครปฐม เริ่มมีญาติธรรมมาฟังธรรม เพราะท่านแสดงธรรมไม่เหมือนพระทั่วไป พูดจริงทำจริง ชี้ถูกชี้ผิด ชัดแจ้ง จนได้ฉายาว่า นักเทศน์ขวานจักตอก

การแสดงธรรมของท่านทำให้เกิดกลุ่มผู้ปฏิบัติธรรม สื่อที่ใช้เป็นเครื่องมือคือ การบรรยายธรรม สาธยายธรรมด้วยปากเปล่า การสั่งสอนธรรมเป็นลักษณะตัวต่อตัว เป็นการสื่อสารแบบสองทาง ด้วยวิธีการถามตอบ ทำให้เกิดความกระจ่างชัดเป็นคนๆ เพิ่มจำนวนสมาชิกญาติธรรมขึ้นเรื่อยๆ จากการไปร่วมฟังธรรม เนื่องจากเป็นธรรมะที่เข้ากันได้กับวิถีชีวิตจริง โดยอาศัยความปิติยินดี ความสงบ เป็นแรงจูงใจให้มาปฏิบัติธรรม ดังนั้นการเผยแพร่ธรรมในยุคแรกๆ อาศัยปากเปล่า การแสดงธรรม จะมีสิ่งพิมพ์บ้างก็เป็นเพียงเอกสารโรเนียว ออกวารสารรายเดือนชื่อ สารอโศก และนิตยสารรายสามเดือน ชื่อแสงสูญ

ยุคอนาล็อก

เนื่องจากท่านเป็นคนในวงการสื่อสารมวลชน ท่านจึงเขียนหนังสือไปด้วยพิมพ์ไปด้วย ระยะแรกเป็นเอกสารโรเนียว ต่อมาเป็นการตีพิมพ์จากโรงพิมพ์ เมื่อมีกลุ่มคนมากขึ้น มาคอยช่วยงาน จึงก่อตั้งเป็นมูลนิธิ ชื่อว่ามูลนิธิธรรมสันติ มีโรงพิมพ์เป็นของตนเอง กองทัพธรรมมูลนิธิ และสมาคมผู้ปฏิบัติธรรม ก็มีหน้าที่เผยแพร่ธรรมเช่นกัน ยุคนั้นถือเป็นยุคที่เริ่มมีการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อเท็ปธรรม และเท็ปวิดีโอเป็นหลัก แต่เป็นระบบอนาล็อก เน้นการสื่อสารระหว่างบุคคล ไปสู่การสื่อสารภายในบุคคล โดยการให้ยืมเท็ปธรรมะแก่สมาชิกไปฟัง ส่วนหนังสือพิมพ์แจกเป็นหลัก โดยมีค่าใช้จ่ายจากการรับบริจาคจากสมาชิกญาติธรรม จะไม่รับเงินจากบุคคลภายนอก โดยตั้งเกณฑ์ไว้ว่า หากผู้ใดอ่านหนังสือธรรมะชาวอโศกครบ 7 เล่ม หรือ มาฟังธรรมที่พุทธสถานเกิน 7 ครั้ง หรือฟังเท็ปธรรมะเกิน 7 ตลับ จึงจะมีสิทธิบริจาคเงินเข้ากองบุญ (เป็นรายได้เข้ามูลนิธิ) ซึ่งรายได้เหล่านั้น ก็มาจากส่วนเกินที่เหลือจากการได้ลดละเลิกอบายมุข ของสมาชิก เพราะเห็นคุณค่าว่า การลดความต้องการส่วนเกิน ทำให้มีส่วนเหลือเพื่อแจกจ่ายให้ผู้อื่นได้


การสื่อสารยุคนี้ได้ดำเนินมาจนกระทั่งย่างเข้าสู่ปี พ.ศ.2540 เทคโนโลยีดิจิตอล เริ่มเข้ามามีบทบาทในการเผยแพร่ธรรมะ

ยุคดิจิตอล

เริ่มจริงจังเมื่อชาวอโศกก่อตัว เป็นองค์กรบุญนิยมที่ค่อนข้างจะแน่นหนาดีแล้ว พ.ศ. 2535เริ่มติดต่อกับองค์ภายนอก ร่วมกันฝึกอบรมประชาชน เรียกว่าโครงการพัฒนาคุณภาพ และศักยภาพชีวิต สมัยนั้น มีพลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นกำลังสำคัญ ต่อมาปี พ.ศ.2544 ก่อตั้งเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย (คกร.) เป็นองค์กรประสานร่วมกับ ธกส. จัดฝึกอบรมชาวเกษตรกร ที่ได้รับการพักหนี้ 3 ปี เพื่อพัฒนาคุณภาพและศักยภาพ ให้เป็นผู้รู้จักพึ่งตนเอง เพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพ ภายใต้หลักคุณธรรม เรียกว่าหลักสูตรสัจธรรมชีวิต ยุคนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลส่วนหนึ่ง และกิจการการค้าบุญนิยมกำลังเจริญเติบโต ระบบสาธารณโภคีก็เข้มแข็ง ทำให้มีงบประมาณสนับสนุนในการจัดซื้อ จัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอุปกรณ์ด้านการสื่อสาร ทำให้เจ้าหน้าที่อาสาสมัครบุญนิยม มีอุปกรณ์กล้องถ่ายภาพระบบดิจิตอล เครื่องบันทึกภาพ และบันทึกเสียงระบบดิจิตอล ใช้อย่างเพียงพอ ผลิตสื่อธรรมะออกเผยแพร่ ได้อย่างกว้างขวาง ในอัตราทั้งปริมาณ และคุณภาพสูงกว่าการผลิตสื่อ ในยุคอนาล็อกหลายเท่า อาจกล่าวได้ว่า ยุคนี้เป็นยุคการเลือกสรรในการบริโภคสื่อ เน้นการสื่อสารระหว่างบุคคล ไปสู่การสื่อสารระหว่างองค์กร

 

ไม่วาจะเป็นยุคการสื่อสารยุคใด รูปแบบการสื่อสารยังคงใช้แบบจำลอง SMCR เป็นพื้นฐาน ส่วนการดำเนินไปของกระบวนการสื่อสารในการเผยแพร่ธรรมะ ข้าพเจ้าเห็นว่าหากใช้ทฤษฎีของฝรั่ง มาอธิบายก็พอรับฟังได้ แต่ก็ไม่ตรงนัก เพราะวิถีแนวคิดนั้นต่างกัน แต่ก็พอจะอนุโลมได้ ทฤษฎีอันหนึ่งที่ข้าพเจ้ารู้จัก คือ ทฤษฎีกระบวนการเลือกสรร (Selective Porcesses) ทฤษฎีนี้กล่าวว่า ผู้รับสารมีกระบวนการเลือกรับรู้ข่าวสารแตกต่างกันตามประสบการณ์ ความต้องการ ความเชื่อ ทัศนคติ หรือความรู้สึกนึกคิด

ในฐานะนักปฏิบัติธรรม ได้รับการปลูกฝังว่าต้องรู้จักเลือกสรรสื่อ คือเลือกบริโภคสื่อที่เป็นสาระ โดยข้อเท็จจริงแล้ว สื่อที่มีอยู่ตามท้องตลาด มิใช่สื่อเป้าหมายสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม จึงจำเป็นอยู่เอง ที่องค์กรต่างๆ ของบุญนิยมจำเป็นจะต้องผลิตสื่อเป้าหมายของตนเอง เพื่อแจกจ่ายให้แก่สมาชิก พฤติกรรมการเลือกแสวงหาข่าวสาร (Selective information Seeking) จึงถูกจำกัดโดยพฤตินัยอยู่แล้วว่า ถ้าเลือกสื่อจากภายนอก ซึ่งมีส่วนผสมของการมอมเมาสูง อาจถือได้ว่าเป็นการละเมิดศีล เว้นแต่จะคัดเลือกเอามาดัดแปลงเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ (การคัดเลือกสื่อจากภายนอก จะเป็นหน้าที่ของนักบวช เพราะถือว่าเป็นผู้มีภูมิธรรม อินทรีย์พละแก่กล้ากว่า)

การเลือกเปิดรับหรือเลือกสนใจ (Selective Exposure or Selective Attention) ก็เช่นกัน ดูเหมือนว่าตัวเลือกนี้จะมีให้หลากหลายขึ้นเมื่อย่างเข้าสู่ยุคดิจิตอล เพราะหน่วยผลิตสื่อดิจิตอล มีโอกาสตอบสนองความต้องการ ความสนใจ ทัศนคติ ความชอบของเหล่าผู้ปฏิบัติธรรมได้หลากหลาย เช่น มีทั้งหนังสือรายปักษ์ รายเดือน หนังสือเล่ม หนังสือชุด หนังสือแปล หนังสือพกพา เท็ปเพลงธรรมะ วิดีโอสารคดี ภาพยนตร์ที่ผ่านการตรวจสอบจากสมณะแล้ว หรือแม้กระทั่งรายการวิทยุกระจายเสียง (จากสถานีวิทยุชุมชน และจากสถานีหลัก) รายการโทรทัศน์ ของมูลนิธิเพื่อนช่วยเพื่อน (ดำเนินงานโดยท่านจันทร์ หรือสมณะจันทเสฏโฐ) รายการวิทยุของชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน (ดำเนินงาน โดยท่านเสียงศีล หรือ สมณะเสียงศีล ชาตะวโร) หรือการออกรายการโทรทัศน TTV ของสมณะโพธิรักษ์ ก็ได้รับความสนจากคนเมืองไม่น้อย นอกจากนี้ ในคราวมีเทศกาลงานพิธี งานประเพณีของชาวอโศก ก็จะมีรายการแสดงสาระบันเทิงภาคค่ำ ก็ถือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการสื่อการแสดงบนเวที (จัดเป็นสื่อประเภทที่ 7 สื่อปราศรัย)

และที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ พฤติกรรมการเปิดรับสื่อจากสื่อบุคคล (สมณะ และสิกขมาตุ) จะอาศัยความชอบเป็นส่วนตัว ในการเลือกสนทนาธรรม หรือเข้ารับฟังธรรมจากสมณะ หรือสิกขมาตุ ซึ่งเป็นองค์ปาฐก เพื่อร่วมสมัยหน่อย ข้าพเจ้าเรียกว่า สมณะ หรือ สิกขมาตุ ต่างก็มีสมาชิกแฟน
คลับ เป็นของตนเอง เช่น ชาวกรุงเทพฯ จะชอบฟังธรรมจากท่านจันทร์ ชาวเกษตรกรจะชอบฟังธรรมจากท่านเสียงศีล ส่วนญาติธรรมจะเลือกฟังธรรมจากพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์มากกว่าสมณะรูปอื่นๆ ส่วนพลตรีจำลอง ศรีเมือง ถ้าได้ขึ้นพูดที่ไหน ก็จะมีคนฟังมากจนล้นศาลาทุกครั้ง เป็นต้น ข้าพเจ้านึกขึ้นได้ว่า เห็นทีจะต้องทำวิจัย หรือสำรวจประชามติเรื่องนี้ดูสักครั้ง มันน่าสนใจไม่น้อย

การเลือกรับรู้หรือตีความ (Selective Perception or Selective Interpretation) จากสื่อต่างๆ ย่อมแตกต่างกันออกไป ด้วยเหตุนี้ สื่อสารบุญนิยม จึงมีระดับความเข้มข้นของธรรมะ และความรู้ ในการนำเสนอที่หลากหลาย เพื่อให้สอดคล้องกับผู้รับสาร ซึ่งเป็นผู้ปฏบัติธรรม ข้าพเจ้ายอมรับว่า ท่านโพธิรักษ์ มีความสามารถเด่นเฉพาะตัว ในการเทศน์หัวเรื่องเดียวกัน ให้แก่ผู้ฟังระดับนักบวช ฆราวาส และเด็กๆ ได้รู้และเข้าใจในหัวข้อธรรมนั้นๆ ได้อย่างกระจ่างชัด โดยการวิเคราะห์ผู้ฟัง ว่าตอนใดควรจะสื่อสาระธรรมเข้มข้นระดับใด ให้เหมาะสมกับ นักบวช ฆราวาส หรือเด็กนักเรียน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ฟังธรรมรับรู้ความหมาย และตีความให้ตรงกับจุดประสงค์ของหัวเรื่องที่แสดง

การเลือกจดจำ (Selective Retention) ของผู้รับสาร จะเป็นบทพิสูจน์และเป็นตัวชี้วัด คุณภาพ ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ของสื่อแต่ละประเภท แต่ละเรื่อง ดังนั้น การแสดงซ้ำๆ ของสื่อ จะช่วยให้ให้การจดจำของผู้รับได้ดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสาระและเทคนิคการนำเสนอ ตลอดจนเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจหรือไม่เพียงไร

เพราะฉะนั้น การแสดงออกทางพฤติกรรม การแสวงหาข่าวสาร การเลือกเปิดรับสื่อ การเลือกรับรู้ตีความของสาร ตลอดจนการเลือกจดจำ ล้วนแต่ถูกจำกัดให้อยู่ในวงของสื่อเป้าหมายหลัก คือสื่อธรรม หรือสื่อที่มีสาระที่เป็นองค์ความรู้บุญนิยม

 

การประกาศสั่งสอนธรรมะของสมณะโพธิรักษ์ ท่านได้อาศัยตัวท่านเองเป็นสื่อ และอาศัยสื่อเอกสารเป็นรอง สิ่งที่ที่ประกาศออกไปเรื่องของการลดละเลิกสิ่งที่ไม่ดี ดังนั้น สิ่งที่ไม่ดีไปอยู่ที่ใคร คนนั้น ถูกตีถูกว่า โดยเฉพาะผู้ที่เสียผลประโยชน์ทั้งการค้า การเมือง ไป “โดนใจ” หลายๆครั้งเข้า ก็เลยไม่พอใจ นอกจากไม่ปฏิบัติตามคำสอนแล้ว ท่านยังจะถูกด่าว่า ถูกดูหมิ่นจากคนเหล่านั้น ส่วนคนที่เข้าใจก็หันมาปฏิบัติตามสิ่งที่ท่านสอน ปรากฏว่าเกิดผลดีแก่ตนเอง แก่ครอบครัว แก่สังคม เกิดมวลหมู่นักปฏิบัติ เกิดเป็นชุมชนคนถือศีลขึ้นมาจริงๆ แต่มีสื่อหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ชื่อ “พญาครุฑ” (ไม่ปรากฏเป็นตัวตน มีฉลับเดียวก็หายไปเลย) ฉบับประมาณเดือนสิงหาคม ปี 2533 ก็จำไม่ได้ตรงนัก กล่าวด่าท่านเสียๆ หายๆ (แต่ท่านไม่ให้ฟ้องเอาผิด) ท่านเองก็ไม่เสียใจอะไร เพราะการติสิ่งที่ควรติ การชมสิ่งที่ควรชม มันหน้าที่ของพระโพธสัตว์ เพราะในสังคมทุกวันนี้ มีแต่คนชม ไม่มีคนติ จึงเสียหายกันไปใหญ่ ข้าพเจ้ายอมรับว่า นี่คือ ความกล้าหาญทางจริยธรรมของนักการสื่อสารมวลชนโดยแท้ ข้าพเจ้าจึงประพันธ์เป็นบทร้อยกรอง เนื่องในวันเทศกาลปีใหม่ ที่ราชธานีอโศก กล่าวถึงคุณูปการของท่าน และแสดงความสังเวชใจกับสังคมในยุคนี้ ที่รังเกียจคนดี มีศีลธรรม เห็นคนดีเป็นแร้งของสังคม…

ภาพตัดต่อท่านโพธิรักษ์ กำลังดูรูปปั้นแร้งซึ่งปั้นด้วยโลหะ
วันนำรูปปั้นไปติดตั้งหน้า “เฮือนศูนย์สูญ” ชุมชนราชธานีอโศ เมื่อ ปี 2547

 

พญาแร้ง แห่งปี 2547

โอ้โอ๋…อนิจจา พญาแร้ง ถูกกลั่นแกล้ง ให้คนกลัว ว่าชั่วหนัก
เพียงกลิ่นกาย เน่าเหม็น ไม่น่ารัก เหมือนจมปลัก มักชั่ว มั่วสันดาน

คนไม่รู้ กู่ก้อง ร้องว่าแร้ง ชอบทึ้งแทง ฉีกกระชาก เดรัจฉาน
เสพของต่ำ สำรอก ชอบระราน เปรียบประจาน ชั่วกว่า สัตว์ใดใด

เกิดเป็นแร้ง ไม่เคยแกล้ง การทำดี ไม่เคยเบียด เบียนชีวี ให้เสียหาย
ต่ออายุ ของตน ด้วยสัตว์ตาย ไม่ดูดาย ล้างป่าช้า คือหน้าที่

เหม็นแต่กาย แต่ใจกล้า กว่าบางคน ในกมล กล้าขจัด สิ่งบัดสี
รักษาศีล ซื่อสัตย์ ดุจชาติพลี ทำความดี อย่างแร้ง แกล้งไม่เป็น

ไมสะสม ไม่กักตุน ให้ยุ่งยาก ไม่มักมาก แต่รักหมู่ อย่างที่เห็น
รู้ตัวดี ว่าอีแร้ง ที่ตนเป็น ไม่ซ่อนเร้น น้อมรับ ด้วยจริงใจ**

สร้างมวลหมู่ ชาวแร้ง จากแข้งทอง รักพวกพ้อง พึ่งตน พ้นสงสัย
ไม่คิดรอ ไม่เคยหวัง แต่ตั้งใจ ทำในสิ่ง ที่โลกทิ้ง ไม่นำพา

4 มกราคม 2547

 

(หน้าต่อไป..............)